ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนวัดป่าจันทวนาราม

เมื่อวัฒนธรรมกับเทคโนโลยีไปด้วยกันอย่างกลมกลืน




บ้านห้องแซง เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ในตำบลห้องแซง อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร เป็นถิ่นที่มีชาวภูไทได้อาศัยอยู่อย่างคับคั่ง มีขนบธรรมเนียมและภาษาพูดแตกต่างไปจากภาษาอื่นๆ ในสมัยหนึ่งเคยเป็นชนชาติกลุ่มใหญ่ แต่ปัจจุบันนี้ได้แตกแยกกันไปทำมาหากิน ถิ่นภูไทอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ชาวภูไทที่อยู่ในประเทศไทย ส่วนมากอยู่ในจังหวัดสกลนครและจังหวัดนครพนม เป็นพวกที่อพยพมาจากประเทศลาว ตั้งแต่ครั้งดินแดนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยยังเป็นอาณาเขตของประเทศลาว
ผู้คนที่นี่ยังอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิต อาหารการกิน โดยเฉพาะการแต่งกาย จะแต่งกายด้วยชุดภูไททุกวันศุกร์ และหากมาทำบุญที่วัด จะต้องแต่งกายชุดภูไทมาทำบุญุทุกครั้ง ทำให้ชาวห้องแซงแต่งกายด้วยชุดภูไทพื้นเมืองจนเป็นวิถีชีวิตประจำวัน

วัดป่าจันทวนาราม ตั้งอยู่ที่ 11 หมู่ 11 บ้านห้องแซง ตำบลห้องแซง อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ที่ตั้งวัดเดิมเป็นป่า หลังจากนั้นก็พัฒนาเป็นสำนักสงฆ์ ต่อมาก็มีชุมชนเข้ามาอยู่รอบๆ วัดจึงเป็นศูนย์กลางของชุมชน ภายในวัดมีชมรมผู้สูงอายุ สภาวัฒนธรรมตำบล ศูนย์ทอผ้าประจำตำบล ตั้งอยู่ภายในวัด

ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนวัดป่าจันทวนาราม ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2552 โดยมีพระครูสุตาลังการ เจ้าอาวาสวัดป่าจันทวนาราม เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ โดยทางวัดได้จัดสร้างอาคารสถานที่ขึ้นเป็นที่ตั้งศูนย์ฯ โดยทางศูนย์ฯ ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีให้กับ เยาวชน เด็กนักเรียน  อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ทำให้บ้านห้องแซงนอกจากจะมีวิถีชีวิตที่อนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมแล้ว ยังมีความทันยุคทันสมัย โดยใช้สื่อออนไลน์เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมของชุมชนให้คนภายนอกชุมชนได้รู้จักอีกด้วย

คุณคำกิ่ง ทับแสง  รองผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนวัดป่าจันทวนาราม  เล่าว่า ปัจจุบันทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินการจัดอบรมให้ความรู้กับพระภิกษุสงฆ์ เยาวชน รวมไปถึงประชาชนในชุมชน ซึ่งอบรมการใช้คอมพิวเตอร์พื้นฐาน รวมถึงการใช้ทคโนโลยีออนไลน์ การสร้างเพจเฟซบุ๊ก การใช้แอปพลิเคชันไลน์ รวมไปถึงการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทางศูนย์ได้สนับสนุนกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น กลุ่มทอผ้า กลุ่มโฮมเสตย์ กลุ่มผ้าขาวม้า กลุ่มเกษตรอินทรีย์ กลุ่มเกษตรพอเพียง กลุ่มตระกร้าสานจากวัสดุเหลือใช้ โดยนำสินค้าไปแสดงที่เพจเฟซบุ๊กของศูนย์ฯ เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าอีกด้วย

คุณคำตา วงศ์ทอง กลุ่มสัมมาชีพทอผ้า เล่าว่า เริ่มจากการที่กำนัน/ ผู้ใหญ่บ้าน ต้องการสืบสานอาชีพผ้าทอมัดหมี่ของชุมชน ไว้ให้แก่ลูกหลานในภายภาคหน้า จึงจัดตั้งกลุ่มทอผ้าดังกล่าวขึ้นมา และได้เข้าไปเรียนรู้การขายออนไลน์จากศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนฯ โดยใช้เฟซบุคที่ทางศูนย์ฯ จัดทำให้ชื่อ ชมรมผู้สูงอายุตำบลห้องแซงบ้านห้องแซงเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า โดยมีกลุ่มลูกค้าไม่ว่าจะเป็น กลุ่มข้าราชการ บุคคลทั่วไป ได้เห็นลวดลายของผ้าทอมัดหมี่ทางออนไลน์ ก็เกิดการสั่งสินค้าขึ้น โดยระยะเวลาของการขายออนไลน์มากว่า 4-5 ปี แล้ว พบว่ากลุ่มอาชีพมีรายได้เพิ่มขึ้นมาก และบางครั้งก็ผลิตสินค้าแทบไม่ทันเลยทีเดียว 

คุณละเอียด ศรีสุข ประธานกลุ่มท่องเที่ยว ตำบลห้องแซง เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในชุมชนในช่วงเทศกาลและงานประเพณีต่างๆ แต่ไม่สามารถหาที่พักได้ เนื่องจากที่พักในชุมชนมีไม่เพียงพอ จึงได้มีการรวมกลุ่มขึ้นมาเป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเหล่านั้น และหลังจากไปเรียนรู้การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์กับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนวัดป่าจันทวนาราม จึงได้นำความรู้มาสร้างเพจเฟซบุก โฮมสเตย์ภูไทห้องแซง ทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักบ้านห้องแซงมากขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้มีคนมาท่องเที่ยวมากขึ้น เป็นการสร้างรายได้ และการส่งเสริมอาชีพให้กับคนในชุมชน 

สำหรับผู้ที่สนใจคิดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ คุณคำกิ่ง ทับแสง รองผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนวัดป่าจันทวนาราม โทร. 086-850-0314 เว็บไซต์ http://www.watpajan.org/ 


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศูนย์ดิจิทัลชุมชน มัสยิดตาราม

ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนอำเภอแม่ลาน้อย

ศูนย์ดิจิทัลชุมชนเฉลิมพระเกียรติวัดโพธิการาม