ศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลไชยปราการ จ.เชียงใหม่

ศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลไชยปราการ จ.เชียงใหม่



อำเภอไชยปราการเป็นอำเภอหนึ่งที่อยู่ใน จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 128 กิโลเมตร ภูมิประเทศมีลักษณะภูเขาสลับกับที่ราบภูเขา เนื่องจากเป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน ทำให้ชุมชนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม คนในชุมชนใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  มีสถานที่สำคัญหลายแห่งอย่างเช่น วัดพระเจ้าพรหมมหาราช (วัดป่าไม้แดง) วัดประจำอำเภอไชยปราการ อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา วัดถ้ำผาผึ้ง สระน้ำมรกต

คุณอนวัช สัตตบุศย์ นายอำเภอไชยปราการ ได้กล่าวว่า "อำเภอไชยปราการ มีสินค้าที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น ผลิตภัณฑ์นมสด อินทผลัม ลิ้นจี่ ลำใย"  เนื่องจากอำเภอไชยประการ มีสินค้าชุมชนหลากหลายชนิด นายอำเภอไชยปราการและคุณสุชาติ บัวคำ นายกเทศมนตรีตำบลไชยปราการ ได้ปรึกษากันว่าทำอย่างไรจึงจะจำหน่ายสินค้าในชุมชนสู่ตลาดภายนอกให้ได้ผลดีที่สุด  จึงเป็นที่มีของการจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลไชยปราการขึ้นภายในเทศบาลตำบลไชยปราการ เนื่องจากเทศบาลตำบลไชยปราการเป็นศูนย์กลางของชุมชน สะดวกต่อการเดินทางมาใช้บริการของประชาชนในพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อเป็นศูนย์รวมสินค้าและกระจายสินค้า ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับนักเรียน ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ ตลอดจนให้ความรู้ด้านการตลาดออนไลน์กับกลุ่มอาชีพในชุมชน เพื่อนำความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ให้เป็นประโยชน์ และสามารถสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับตนเองและชุมชน

ถึงแม้ว่าศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลไชยปราการ เป็นศูนย์ฯ น้องใหม่ เพิ่งเปิดดำเนินการได้ไม่กี่ปี แต่ก็มีชาวบ้านในชุมชนเข้าใช้บริการอย่างต่อเนื่อง  โดยมี คุณนิธิรัตน์ บัวตุง (พี่แจ็ค) เป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลไชยปราการ ทางศูนย์ฯ ได้จัดเตรียมหลักสูตรการเรียนรู้หลากหลายหลักสูตร แต่ละหลักสูตรมีเนื้อหาเหมาะสมกับผู้ที่เข้ามาเรียน  อย่างเช่นในกลุ่มของเยาวชน ทางศูนย์ฯ จะอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตอย่างถูกต้อง เหมาะสม และปลอดภัย   สำหรับกลุ่มสตรีแม่บ้านและกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังมีความรู้พื้นฐานยังไม่ดีนัก ทางศูนย์จะเลือกสอนหลักสูตรความรู้คอมพิวเตอร์เบื้องต้นเและการใช้งานโปรแกรมพื้นฐานเบื้องต้น เพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานให้กับผู้เรียนก่อนจะไปยังหลักสูตรอื่นๆ ต่อไป

ในส่วนกลุ่มผู้อาชีพหรือกลุ่มสินค้าโอทอป นั้น ทางศูนย์ฯ จะให้ความรู้เกี่ยวกับการตลาดออนไลน์ด้วยสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างเช่น เฟซบุ๊ก ไลน์  โดยจะแบ่งผู้เข้าเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มอาชีพที่มีความสนใจในหลักสูตรการตลาดออนไลน์และสามารถเข้ามาเรียนด้วยตนเอง และกลุ่มสอง เป็นกลุ่มอาชีพที่ไม่สะดวกเข้ามาเรียน ในกลุ่มนี้ทางศูนย์ฯ จะใช้วิธีเข้าติดต่อสอบถามข้อมูลสินค้า ปัญหา และความต้องการต่างๆ เป็นรายบุคคล เพื่อที่จะได้หาวิธีการแก้ปัญหา และคำแนะนำได้อย่างเหมาะสม โดยมีจุดหมายให้กลุ่มอาชีพ และกลุ่มสินค้า OTOP ต่างๆ สามารถนำความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไปปรับใช้กับสินค้าของตนเอง เพื่อสร้างเพจเฟซบุ๊ก ไลน์ ตลอดจนวิธีการถ่ายรูปสินค้าให้ดูน่าสนใจ เพื่อสร้างช่องทางขายสินค้าออนไลน์ และเพิ่มรายได้ให้ได้มากขึ้น มีกลุ่มสินค้าหลายกลุ่มที่ได้มาเรียนรู้หลักสูตรการตลาดออนไลน์ ตัวอย่างเช่น

คุณณัฐริกา ลิแฮ (พี่หญิง) ประธานกลุ่มทอผ้าปกาเกอะญอ บ้านห้วยบง ศูนย์ผ้าทอบ้านห้วยบง สินค้าของกลุ่มมีหลายชนิด เช่น การทอซิ่น ทอย่าม  ผลิตภัณฑ์มีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ โดยทางศูนย์ฯ ได้นำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มไปช่วยโปรโมทและจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เพิ่มยอดขาย และรายได้ให้กับกลุ่มได้เป็นอย่างดี

คุณปรานอม เพ็ชรชัย ประธานกลุ่มแปรรูปวิสาหกิจชุมชนบ้านปลงดำ นำเอาผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปให้เป็นสินค้าโอทอป โดย เช่น กล้วยสอดไส้แยมลิ้นจี่และแยมลำไย กล้วยตาก กล้วยจืด สบู่ฟักข้าว สบู่กาแฟ ฯลฯ ทางศูนย์ฯได้เข้ามาช่วยในเรื่องจำหน่ายทางโลกออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก กลุ่มสินค้า OTOP อำเภอไชยปราการ ทำให้สินค้ามียอดสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ เพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มมากขึ้น

คุณทองเหรียญ พีระ (คุณแม่เหรียญ) ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการเกษตรบ้านท่า อีกหนึ่งตัวอย่างที่ทางศูนย์ฯได้รับการส่งส่งเสริมการขายทางออนไลน์ ผลิตภัณฑ์เด่นของกลุ่ม คือ กระเทียม กระเทียมดอง กล้วยฉาบ ฯลฯ เป็นผลผลิตในชุมชนปลูกเอง ช่องทางการขาย ก็นำขายในตลาดและส่งขายในตำบลอื่น ทางศูนย์ฯได้เข้ามาช่วยในเรื่องจำหน่ายทางออนไลน์ทำให้ผลิตภัณฑ์ได้เป็นที่รู้จักทำให้รายได้มากขึ้น

คุณวัชรี กาวิชัย (พี่แหวน) เจ้าของพริกแกงอาหารเหนือศรีอามอญ Sriamon เริ่มจากทางครอบครัวทำพริกแกงขายที่ตลาดสดแถวบ้าน  และได้รับความนิยมจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี หลังจากคุณวัชรี ได้เรียนหลักสูตรด้านการตลาดออนไลน์จากศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลไชยปราการ ได้นำความรู้ที่เรียนมาต่อยอดธุรกิจครอบครัว โดยสร้างเฟซบุ๊ก พริกน้ำเงี้ยว ศรีอามอล เชียงใหม่เจ้า เพื่อเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้า ทำให้สินค้าเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น มียอดสั่งซื้อผ่านเข้ามาทางเฟซบุ๊กเป็นจำนวนมาก เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดี โดยมีสินค้าขายดีได้แก่ พริกน้ำงิ้ว พริกข้าวซอย  พริกฮังเล  พริกน้ำยา พริกแกงอ่อม พริกลาบเหนือ และพริกตาแดง

ผู้ใหญ่สมยศ ธรรมลังกา (พ่อหลวงสมยศ) เจ้าของสวนอินทผาลัม ไร่ไชยปราการ อินทผาลัม เป็นพืชเศรษฐกิจที่ทางอำเภอไชยปราการกำลังสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูก โดยจำหน่ายผลสุกที่สวนเองโดยตรง นอกจากนั้นยังนำอินทผาลัมไปแปรรูปจำหน่าย ได้แก่ น้ำอินทผาลัม อินทผาลัมกวน แยมอินทผาลัม อินทผาลัมอบแห้ง  ทางศูนย์ฯได้เข้ามาช่วยในเรื่องจำหน่ายทางออนไลน์ทำให้ผลิตภัณฑ์ได้เป็นที่รู้จัก ทำให้รายได้มากขึ้น

ไร่กาแฟ คุณธรรมนูญ อนุลักษณ์  ผู้ดูแลกลุ่มนักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการสำนักงานพัฒนาชุมชน อ.ไชยปราการ เกิดจากโครงการธรรมะแนวพระราชดำริ เนื่องบนดอยเวียงมีเม็ดกาแฟอยู่เป็นจำนวนมากและประกอบกับภูมิประประเทศที่เหมาะสม ทำให้เมล็ดกาแฟมีคุณภาพที่ดี หลังจากทางศูนย์ฯ ได้ให้คำแนะนำด้านร้านค้าออนไลน์กับคุณเศรษฐรัจน์ ตนะพงษ์ ผู้จัดการร้านกาแฟดอยเวียง จึงได้ลองนำสินค้าลงขายผ่านสื่อเฟซบุ๊ก Doiwiang Coffee กาแฟดอยเวียง ไชยปราการ เชียงใหม่ ได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้า ทำให้ลูกค้ารู้จักสินค้าเพิ่มมากขึ้น มียอดสั่งซื้อออนไลน์เข้ามาเป็นจำนวนมาก

จะเห็นได้ว่าด้วยความร่วมมือของคนในชุมชนและศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลไชยปราการ มีส่วนช่วยในพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับคนในชุมชน และช่วกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตยิ่งขึ้น การนำสินค้าของชุมชนไปประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อเฟชบุ๊ก กลุ่มสินค้า OTOP อำเภอไชยปราการ ส่งผลให้สินค้าต่างๆ ของชุมชนกระจายออกไปสู่ผู้สนใจได้มากยิ่งขึ้น เพิ่มยอดขาย สร้างรายได้ สร้างความสุข ความมั่นมั่นคงให้กับชุมชนได้เป็นอย่างยั่งยืน


















ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศูนย์ดิจิทัลชุมชน มัสยิดตาราม

ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนอำเภอแม่ลาน้อย

ศูนย์ดิจิทัลชุมชนเฉลิมพระเกียรติวัดโพธิการาม