ศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลพระยืน



จังหวัดขอนแก่น เป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  มีพื้นที่ขนาดใหญ่และประชากรจำนวนมากเป็นอันดับที่ 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เป็นยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและต่างชาติ และมีศิลปะวัฒนธรรมอันงดงาม

สถานที่ ที่ถือเป็นแลนมาร์คของจังหวัดขอนแก่น บึงแก่นนคร ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลกลางเมืองขอนแก่น เป็นบึงขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ 603 ไร่  เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดตั้งอยู่กลางเมืองขอนแก่น เป็นทั้งแหล่งอุปโภค บริโภค ทำประมง ของชาวขอนแก่นมาตั้งแต่ในอดีตอีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมการจัดกิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรมอีกมากมาย

หมู่บ้านงูจงอาง อีกแหล่งท่องเที่ยว ที่มีความเป็นมาที่ยาวนาน แหล่งรวมของสมุนไพรชั้นดี ของดีประจำหมู่บ้าน ประกอบกับการแสดงงูจงอางที่มีชื่อเสียงโด่งดังถึงต่างประเทศ ทำให้หมู่บ้านกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น

และเนื่องจากจังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ และมีทรัพยากรที่สมบูรณ์จึงทำให้มีผลิตภัณฑ์มากมายที่ได้รับความนิยมจากทั้งคนในจังหวัดและนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยียน

ตำบลพระยืน ตำบลขนาดกลางของจังหวัดขอนแก่น อาชีพหลักของคนในชุมชน เป็นเกษตรกรทำนา นับเป็นตำบลตัวอย่างที่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเล็งเห็นถึงความสำคัญของการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  จึงได้จัดตั้ง ศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลพระยืนขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน ให้คำแนะนำการในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อชีวิตประจำวันและส่งเสริมการประกอบอาชีพ

ศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลพระยืนในปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการให้บริการ ให้ความรู้ และพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับคนในชุมชน โดยมีการทำงานร่วมกับหลายฝ่าย ทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้นำชุมชน กศน. และเน็ตอาสาจากเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ DTAC ที่เข้ามาพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนให้สามารถเรียนรู้ และ มีโอกาสเข้าถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้ง่ายขึ้น

คุณ ประชา เอื้องสัจจะ ผู้จัดการศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลพระยืน กล่าวว่า หน้าที่หลักของ ศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลพระยืน คือการจัดกิจกรรมอบรม อาทิ การฝึกใช้คอมพิวเตอร์ตั้งแต่เบื้องต้น ไปจนถึงหลักสูตรการทำการตลาดเพื่อการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เข้ารับการอบรม  ทางผู้นำชุมชนเองได้มีการสนับสนุน และทำความเข้าใจกับผู้คนในชุมชนให้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงภาคเอกชนอย่าง เน็ตอาสาจาก DTAC ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมอบรมของทางศูนย์ฯ สอนวิธีการค้าขายสินค้าออนไลน์ผ่านการสร้างเพจเฟซบุ๊ก การถ่ายภาพ การทำคอนเทนท์ให้ถูกใจผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ จากความร่วมมืออันดีนี้ คนในชุมชนได้เกิดแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ ในการนำผลิตภัณฑ์ของชุมชนมาขยายผล ทำตลาดทางโซเชียลมีเดีย สร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น และยังก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์แปรรูป ที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้เกิดขึ้นแก่ชุมชนได้อีกด้วย

และนอกจาก ศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลพระยืน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังได้จัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนเพื่อพ่อหลวง อำเภอ มัญจาคีรี ขึ้นเพื่อสอนคอมพิวเตอร์เบื้องต้นให้กับนักเรียนและประชาชนในชุมชน รวมถึงแนะนำวิธีการสร้างช่องทางในการจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ เพื่อสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นแก่วิสาหกิจชุมชน และยังเป็นศูนย์การเรียนรู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชาติศาสนาและพระมหากษัตริย์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และปลูกฝังความรักชาติศาสนาและพระมหากษัตริย์ให้กับเด็กและเยาวชนตลอดจนประชาชนทั่วไป

ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนเพื่อพ่อหลวง อำเภอมัญจาคีรี จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพชุมชน สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ใช้สื่อในทางสร้างสรรค์ เพื่อการเรียนรู้ พัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าของชุมชนให้เป็นที่รู้จัก และยังได้สอดแทรกเรื่องราวของ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้คนในชุมชน ได้เรียนรู้ทั้งระบบดิจิทัลที่เป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้เพิ่มเติม และยังมีภูมิคุ้มกันในด้านความคิด ทำให้ไม่ประมาทในการทำธุรกิจ ส่งผลให้กิจการของชุมชนสามารถดำเนินมาได้อย่างยั่งยืน

คุณ กาญจนากร ภักดีปัญญา เจ้าของร้านผ้าไทย ซอนออน หนึ่งในผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาช่องทางการตลาดผ่านช่องทาง ออนไลน์กล่าวว่า  จากการที่ภาครัฐได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ นำความรู้มาสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างแท้จริง จนเกิดเป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน ได้มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้อาชีพในชุมชนที่มีมาอย่างช้านาน พัฒนาเท่าทันกับยุคสมัย และสร้างรายได้ให้กับหลายครัวเรือน เนื่องจากออนซอนผ้าไทย เป็นศูนย์กลางรับสินค้าผ้าไทยจากแหล่งต่างๆ เพื่อมาจัดจำหน่าย หลังจากที่คุณกาญนากรได้เข้ารับการอบรมจากศูนย์ดิจิทัลชุมชน จึงได้ขยายช่องทางการตลาดทางโซเชียลมีเดีย ในเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ ออนซอนผ้าไทย และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ปัจจุบันมีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ จึงสร้างรายได้ให้กับธุรกิจและต่อยอดสร้างรายได้ให้กับชุมชนมีออร์เดอร์สั่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น

เช่นเดียวกับสมุนไพรบ้านงูจงอาง  อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการอบรมจากทางศูนย์ดิจิทัลชุมชน จนสามารถกระจายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ต้องรอนักท่องเที่ยวเข้าไปถึงหมู่บ้าน หรือขายแต่เพียงหน้าร้าน ก่อให้เกิดรายได้แก่คนในหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้นและยังสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ่านการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ทำให้วันนี้สมุนไพรผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านงูจงอาง ได้รับการต่อยอดจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี


นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่เกิดจากความมุ่งมั่น ตั้งใจในการที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยพัฒนาชุมชน ต้องการข้อมูลและติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนเพื่อพ่อหลวงตำบลพระยืน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศูนย์ดิจิทัลชุมชน มัสยิดตาราม

ศูนย์ดิจิทัลชุมชนเฉลิมพระเกียรติวัดโพธิการาม

ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนอำเภอแม่ลาน้อย