ศูนย์ดิจิทัลชุมชนบ้านดอนหวาย



อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นอำเภอที่มีประวัติศาตร์อันยาวนาน ตั้งอยู่ไม่ไกลจาก อุทยานประวัติศาสตร์ พนมรุ้ง หรือ ปราสาทเขาพนมรุ้ง มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย อาทิ วนอุทยานเขากระโดง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและศึกษาประวัติศาสตร์ทางธรณีวิทยาเนื่องจากเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟ นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานกู่เขากระโดง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และ เขื่อนลำนางรอง โครงการในพระราชดำริ ในรัชกาลที 9 ที่สร้างประโยชน์มากมายให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำลำนางรอง โดยเกษตรกรสามารถสร้างผลผลิตได้ตลอดทั้งปีในรูปแบบเกษตรครบวงจร ซึ่งนอกจากประโยชน์การเกษตรและอุปโภคบริโภคแล้ว อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนลำนางรอง ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวของประชาชนทั่วไปในฐานะของ ทะเลสาบแห่งอีสานใต้อีกด้วย

สำหรับจังหวัด บุรีรัมย์ ดินแดนแห่ง “เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม” ประชาชนส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ปลูกข้าว ทำไร่ ทำสวน ซึ่งข้อดีของทรัพยากรของที่นี่ก็คือ ดินภูเขาไฟที่มอดแล้ว มีแร่ธาตุต่างๆมากมาย เหมาะแก่การเพาะปลูก อาทิ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ดินภูเขาไฟ เป็นข้าวที่ปลูกบนพื้นที่ภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วดินจึงมีความอุดมสมบูรณ์ มีแร่ธาตุที่พืชต้องการ จึงทำให้ได้ข้าวที่ดีมีคุณภาพ ตามที่ตลาดผู้บริโภคต้องการ จึงเป็นทางเลือกทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง

ศูนย์ดิจิทัลชุมชนบ้านดอนหวาย ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

คุณมานิต หอมโลก ผู้จัดการศูนย์ดิจิทัลชุมชนบ้านดอนหวาย ได้เป็นผู้นำในการไปศึกษาหาความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจนได้มาเป็นตัวแทนของศูนย์เรียนรู้ นำเอาความรู้ที่ได้จากการอบรมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาเผยแพร่และขยายผลสู่ประชาชนในชุมชนทุกเพศทุกวัย ให้เข้าถึง เข้าใจ และสามารถนำประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ทั้งในด้านการดำเนินชีวิตและที่สำคัญนำมาสร้างรายได้ที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนให้เกิดขึ้นแก่คนในชุมชน ผ่านกิจกรรมที่เข้าถึงได้อย่างตรงจุด ทำให้ปัจจุบัน ทั้งเด็กๆ และ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ได้เข้ามาร่วมมือกัน สร้างรายได้และอาชีพ

ข้าวหอมมะลิ ชาวนาน้อย ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือและไอเดียสร้างสรรค์ ทำให้เด็กๆได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตของชาวนา เรียนรู้วิธการปลูกข้าว บ่มเพาะวิถีเกษตรพอเพียง และเด็กๆก็ได้รับโอกาสทางด้านการศึกษามากขึ้น เพราะรายได้ที่เกิดขึ้นจากข้าวชาวนาน้อยที่ขายดีถึงขนาดที่ต้องมีการสั่งจองกันล่วงหน้า เพราะข้าวชาวนาน้อย มีทั้งคุณภาพและจุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร รวมถึงการประชาสัมพันธ์ผ่านทางออนไลน์ ที่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน บ้านดอนหวายได้มีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ สอนวิธีการทำตลาดผ่านช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภคที่สั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ บนหน้าเพจเฟซบุ๊ก ชาวนาน้อยบุรีรัมย์ และทางศูนย์เรียนรู้ยังได้นำสินค้าต่างๆของชุมชนมาประชาสัมพันธ์ผ่านทางหน้าเพจเฟซบุ๊กของ ศูนย์ดิจิทัลชุมชน บ้านดอนหวาย อีกหนึ่งช่องทาง

นอกจากการศึกษาและเรียนรู้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารแล้ว ทางศูนย์ดิจิทัลชุมชนบ้านดอนหวาย ยังได้แนะนำถึงวิธีการแปรรูปสินค้า โดยประชาชนสามารถใช้พื้นที่ของศูนย์ฯ เข้ามาใช้คอมพิวเตอร์เพื่อค้นหาข้อมูลสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆให้เกิดขึ้น ตัวอย่างหนึ่งของการแปรรูป ที่เกิดขึ้นจากข้อมูลที่ไม่สิ้นสุดบนโลกออนไลน์ก็คือ ข้าวเม่าซีเรียล ของกลุ่มสตรีแม่บ้านแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าว ที่ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยม จนสามารถนำออกขายได้ทั้งหน้าร้านและผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค

ทั้งนี้ ยังมีความร่วมมือเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายเน็ตอาสาที่เข้ามาต่อยอดการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน ทั้งวิธีการใช้สมาร์ทโฟน การทำเพจเฟซบุ๊ก การถ่ายรูปเพื่อขายสินค้าออนไลน์ และแนะแนวการสร้างคอนเทนต์ให้เป็นที่สนใจของลูกค้าบนโลกออนไลน์ ช่วยเพิ่มยอดขายให้กับผลิตภัณฑ์ของคนในชุมชนเพิ่มมากขึ้น

ผลิตภัณฑ์สินค้าของจังหวัดบุรีรัมย์ นอกจากข้าวหอมมะลิที่ขึ้นชื่อแล้ว ยังมีสินค้าเกษตรคุณภาพดีอีกมากมาย อีกทั้งผ้าทอพื้นเมือง ไม้กวาดทางมะพร้าว ตะกร้าสาน ที่ล้วนแล้วแต่เป็นงานฝีมือที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ดิจิทัลชุมชนบ้านดอนหวาย











ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศูนย์ดิจิทัลชุมชน มัสยิดตาราม

ศูนย์ดิจิทัลชุมชนเฉลิมพระเกียรติวัดโพธิการาม

ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนอำเภอแม่ลาน้อย