ศูนย์ดิจิทัลชุมชนสถาบันพัฒนาเยาวสตรี



ศูนย์ดิจิทัลชุมชนสถาบันพัฒนาเยาวสตรี อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

พลังขับเคลื่อนชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน




ศูนย์ดิจิทัลชุมชนสถาบันพัฒนาเยาวสตรี ตั้งอยู่ที่มูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงไอซีที สำนักงานกรมการศึกษานอกโรงเรียน และบริษัท ดีแทค จำกัด (มหาชน) ซึ่งพัฒนาจากศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนที่จัดตั้งขึ้นในปี 2552 โดยเป็นศูนย์ขนาดกลาง ที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่นและได้รับรางวัลต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล มีผลงานเด่นในเรื่องการส่งเสริมสินค้าชุมชน สินค้าเกษตร โดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์ และอาหารแปรรูป เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยีให้กับเด็กนักเรียนที่ยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษาได้มีโอกาสเรียนหนังสือและพัฒนาตนเอง

คุณสมชาย เหล็กเพชร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเยาวสตรี และเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เกิดศูนย์ดิจิทัลชุมชนสถาบันพัฒนาเยาวสตรี เล่าความเป็นมาของการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเยาวสตรีว่า “หลวงพ่อวัดป่าดาราภิรมย์ มองเห็นว่าเยาวชนที่อยู่ตามชนบทขาดโอกาสทางการศึกษา ผู้ปกครองยากจน เลยมีความคิดที่อยากจะส่งเสริมเรื่องของการศึกษา จึงจัดตั้งเป็นสถาบันพัฒนาเยาวสตรี ซึ่งเน้นเฉพาะเยาวชนที่เป็นผู้หญิง กลุ่มสตรี เป็นการเรียนฟรีทั้งหมด โดยส่งเสริมทางด้านอาชีพ เช่นงานฝีมือ ตัดเย็บเสื้อผ้า งานศิลปะ งานเกษตรโดยเน้นเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ทางศูนย์ดิจิทัลชุมชน ยังได้เข้ามาส่งเสริมให้กับเด็กนักเรียนซึ่งขาดโอกาสที่จะใช้สื่อทันสมัยอย่างสื่อดิจิทัล ได้เพิ่มพูนความรู้ และปรับตัวได้เท่าทันกับยุคปัจจุบันที่โลกก้าวไปไกล และสามารถนำทักษะด้านดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิต”

ศูนย์ดิจิทัลชุมชนสถาบันพัฒนาเยาวสตรี เป็นหน่วยงานหลักที่เข้ามาให้ความรู้ในการขายออนไลน์แก่กลุ่มอาชีพในชุมชน ได้แก่ กลุ่มพัฒนาอาชีพสตรีชุมชนทรายมูล ซึ่งมีสินค้าโดดเด่น คืองานฝีมือทำกระเป๋าและเข็มขัดจากเชือก “เมคราเม่” และกระเป๋าสานจากลูกปัด

คุณวันเพ็ญ พรหมมั่ง ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนทรายมูล เล่าว่า “เริ่มตั้งกลุ่มมาตั้งแต่ปี 2555 โดยเชิญชวนผู้สนใจเข้ารับการอบรม การทำกระเป๋าจากเชือกเมคราเม่ งานร้อยลูกปัด งานถักไหมพรม เสื้อ ผ้าพันคอฯลฯ ต่อมาได้เข้าไปเรียนรู้ที่ศูนย์ดิจิทัลชุมชนสถาบันพัฒนาเยาวสตรี ทำให้ยอดขายสินค้ามีจำนวนเพิ่มขึ้น จากที่มีการขายเพียงแค่หน้าร้าน พอเข้าไปอบรมก็มาขายทางเพจ เฟซบุ๊ก โดยใช้ชื่อเพจว่า สินค้าแฮนด์เมด ชุมชนทรายมูล จ.เชียงใหม่ และให้สมาชิกของกลุ่มช่วยกันเรียนรู้เพื่อขายสินค้าผ่านทางเพจ ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น”


นอกจากนี้ศูนย์ดิจิทัลชุมสถาบันพัฒนาเยาวสตรี ยังเข้าไปช่วยส่งเสริมการขายทางออนไลน์ให้กับศูนย์หัตถกรรมเมตตานารี มูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของแม่บ้านและกลุ่มเยาวสตรี ผลิตสินค้าต่างๆอาทิและผ้าไตรจีวร ผ้าปูโต๊ะ ผ้ารองจานเป็นต้น โดยเปิดขายสินค้าออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก ภายใต้ชื่อเพจ ศูนย์หัตกรรมเมตตานารี วัดป่าดาราภิรมย์ มีการสอนตั้งแต่เทคนิคการถ่ายภาพสินค้าให้ดูน่าสนใจ การรับออร์เดอร์ การจัดส่งสินค้า และการติดตามผลหลังการขาย ทำให้สินค้าเป็นที่ยอมรับ เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ สามารถพึ่งตนเองได้



คุณฐิติรัตน์ ชุมเชื้อ และผู้ดูแลศูนย์ดิจิทัลชุมชนสถาบันพัฒนาเยาวสตรี เล่าว่า “นอกจากจะมีการส่งเสริมทางด้านวิชาการให้กับเด็กนักเรียนสร้างอาชีพให้กับชุมชน ยังมีการส่งเสริมกลุ่มเกษตรกร โดยลงพื้นที่ไปกับคณะเจ้าหน้าที่มูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบทที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการเกษตรให้กับเกษตรกรที่อยู่ในในพื้นที่ห่างไกลโดยทางศูนย์ได้เข้าไปให้ความรู้ในการใช้สมาร์ทโฟนเพื่อค้นคว้าหาข้อมูลในเรื่องของราคาผลผลิต ว่าฤดูกาลไหนควรจะปลูกหรือทำอะไร หรือให้ความรู้ในเรื่องของเกษตรอินทรีย์ ว่าควรทำอย่างไร การทำน้ำหมักชีวภาพ การทำปุ๋ยอินทรีย์ การปลูกผัก การทำเศรษฐกิจพอเพียง เขาปลูกพื้นที่อย่างไรตลอดจนสนับสนุนให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการขายออนไลน์ ทำให้สินค้าของเกษตรกรกลายเป็นที่คนรู้จักในวงกว้างมากขึ้น หาซื้อได้ง่ายและสะดวกขึ้น”

คุณกันต์กนิษฐ์ ล่ำวัฒนนท์ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานด้านการเกษตร ได้เล่าให้ฟังว่า “สหกรณ์เป็นลูกข่ายของศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งศูนย์ดิจิทัลชุมชนได้เข้ามาดูแลว่า ขณะนี้ผลผลิตของสหกรณ์มีอะไรบ้าง เช่นข้าวสี ข้าวอินทรีย์ และถั่วเหลือง ที่เป็นผลผลิตหลักของกลุ่มของสหกรณ์ ก็ได้สร้างเว็ปทำเพจ เพื่อนำผลผลิตแปรรูปต่างๆไปขาย นอกเหนือจากที่รอให้ลูกค้าโทรมาสั่งซื้อ หรือไปขายตามตลาดนัด ทางศูนย์ฯ ยังได้มีการติดตามในเรื่องของการอบรมว่าเกษตรกรในนำไปใช้ได้เกิดผลจริงๆ”

การจัดการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีของศูนย์ดิจิทัลชุมชนเยาวสตรีนอกจากจะช่วยส่งเสริมเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาให้มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้นแล้ว พัฒนาทักษะ ยังทำให้คนในชุมชนสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์ตนเองได้เป็นอย่างดี ทำให้สินค้าในชุมชนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากได้รับการยอมรับ และยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน



Facebook page :สินค้าแฮนด์เมด ชุมชนทรายมูล จ.เชียงใหม่ โทร 089-758-0400

วันเพ็ญ พรหมมั่ง ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนทรายมูล 089-758-0400

ฐิติรัตน์ ชุมเชื้อ (ยุ่น) 081-387-6568 เลขาเครือข่ายภาคเหนือและผู้ดูแลศูนย์

กันต์กนิศฐ์ ล่ำวัฒนนนท์ ผู้ดูแลศูนย์ และข้าวเกษตรอินทรีย์ 080-676-9792

คุณนันทวี เจริญทรัพย์ ผู้จัดการศูนย์หัตถกรรมเมตตานารี 089-554-8445

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศูนย์ดิจิทัลชุมชน มัสยิดตาราม

ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนอำเภอแม่ลาน้อย

ศูนย์ดิจิทัลชุมชนเฉลิมพระเกียรติวัดโพธิการาม